คุยกับเอ็มดี ธอส. อ่านเทรนด์สินเชื่อบ้านปี’65

หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาฟันธงว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 นี้จะฟื้นตัวดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางเป็นบวกมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับต่ำ และยังมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ชั่วคราว การขยายเวลาลดค่าโอน ค่าจดจำนองที่ได้อานิสงส์ถึงบ้านมือสองด้วย

ส่วนในมุมของสถาบันการเงินในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มานำเสนอ

คาดคนแห่ซื้อที่อยู่อาศัยต้นปี
โดย “ฉัตรชัย” กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2565 นี้น่าจะเห็นการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น ทั้งจากนโยบายซื้อหวยออนไลน์ถูกกฎหมายมั่นใจได้การเงินของสหรัฐ รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นประมาณหลังไตรมาส 2 ไปแล้ว

ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประชาชนที่ปรับตัวได้แล้ว จากผลกระทบทางด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 รีบเข้ามาใช้แพ็กเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาฯก็จะเริ่มมีการลงมือสร้างบ้าน ทำโครงการใหม่หลังจากที่ได้มีการขายระบายสต๊อกไปแล้ว และไม่ได้มีการสร้างใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“ตั้งแต่มีโควิดเข้ามาวิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนไป จากนี้ไปการใช้ชีวิตของคนเมืองจะเปลี่ยนเป็น work from home มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่เคยอยู่คอนโดมิเนียมจะอยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้น คนที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยก็จะขยับไปซื้อบ้านแนวราบ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลาย LTV เป็นการชั่วคราว ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้สินเชื่อบ้านแนวราบขยายตัวขึ้นด้วย ตลอดจนระบบขนส่งมวลชนที่พัฒนาไปไกลแล้ว คนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น”

มาตรการรัฐหนุนบ้านมือสอง
“ฉัตรชัย” กล่าวว่า เมื่อคนกลุ่มหนึ่งขยับจากอยู่คอนโดฯไปซื้อบ้านแนวราบ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนมือคอนโดฯมากขึ้นด้วย เพราะคนที่ต้องการจะซื้อคอนโดฯเป็นครั้งแรกก็ไม่จำเป็นต้องซื้อมือหนึ่ง ก็อาจจะซื้อคอนโดฯมือสองก็ได้ ดังนั้น จึงเป็นภาวะที่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยกำลังจะปรับตัว

โดย ธอส.เองก็เตรียมนำทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ถือครองนานกว่า 5 ปีออกมาจำหน่ายรวมกว่า 1,000 รายการ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย

“จากการที่รัฐได้ขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย สนับสนุนและบรรเทาภาระที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ถึง 31 ธ.ค. 2565 จะช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ แม้จะไม่ได้มีการขยับเพดานราคาบ้าน แต่ก็ช่วยในเรื่องลดค่าโอนจดจำนองที่ขยายไปถึงบ้านมือสองด้วย ซึ่งจะทำให้ตลาดสินเชื่อบ้านมือสองมีการเปลี่ยนมือมากขึ้น”

ปักธงสินเชื่อใหม่ 2.15 แสนล้าน
“ฉัตรชัย” กล่าวว่า ธอส.ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ที่ 215,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 3% โดยปีนี้ธนาคารจะ “go digital” มากขึ้นด้วยการนำดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ อย่างการทำสัญญาดิจิทัลที่จะทำให้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อระหว่างธนาคารกับลูกค้าอยู่บนระบบดิจิทัล โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคารบ่อย ๆ โดยลูกค้าจะมาธนาคารเพียงครั้งเดียวในวันที่ยื่นเอกสารตัวจริงเท่านั้น

“ระบบนี้จะทำให้การอนุมัติสินเชื่อทำได้อย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของแบงก์ได้มาก และจะมีผลต่อการช่วยดึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของแบงก์ให้ต่ำลงมาด้วย ทั้งนี้ แม้ช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่เราก็จะพยายามไม่ขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าที่สุด เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับลูกค้า”

นอกจากนี้ เมื่อทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้เป็นขาขึ้น การออกสลากออมทรัพย์ ธอส. จะไม่ออกเป็นระยะยาว และจะพยายามทำให้เงินฝากออมทรัพย์เข้ามาอยู่ในรูปแบบสลากมากขึ้น

พักหนี้กลุ่มอ่อนแอต่อถึงกลางปี
เอ็มดี ธอส.กล่าวด้วยว่า ด้านการดูแลลูกหนี้ปีนี้ธนาคารได้ขยายความช่วยเหลือลูกค้าตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 โดย ธอส.ประเมินว่ากลุ่มที่ยังต้องการรับความช่วยเหลืออยู่น่าจะเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้นเป็นวงเงิน 113,000 ล้านบาท จากลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ทั้งสิ้น 846,911 ล้านบาท

“ก็มีลูกค้าที่มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้บ้างประมาณ 5% ส่วนที่เหลือก็จะเข้ามาสู่มาตรการพักหนี้ต่อจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งขณะนี้มีราว 113,000 ล้านบาทที่ยังต้องเข้ามาตรการพักหนี้ต่อ โดยในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นทั้งลูกค้าที่แบ่งจ่ายชำระหนี้ กับกลุ่มที่หยุดผ่อนชำระหนี้ ซึ่งในการขยายมาตรการครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของคนที่หยุดชำระมาก่อนนี้จะต้องลุกขึ้นแบ่งจ่ายแล้วอย่างน้อย 25% ดังนั้น ลูกค้าที่ไม่แข็งแรงก็น้อยลงเรื่อย ๆ” เอ็มดี ธอส.กล่าว