รัฐเฉือนรายได้ 7 พันล้าน อุ้มค่าไฟ นาน 6 เดือน

รมว. คลัง เผยสรรพสามิตลดภาษีน้ำมันดีเซล (บี0)-น้ำมันเตา อุ้มค่าไฟ ช่วยลดต้นทุนการผลิต 1-1.50 บาท/หน่วย นาน 6 เดือน แก้ปัญหาก๊าชธรรมชาติแพง เฉือนรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท ด้านอธิบดีสรรพสามิต ยันไม่กระทบรายได้ ชี้สถานการณ์ปกติไม่มีการนำเข้า

วันที่ 8 มีนาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า นาน 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด

เนื่องจากขณะนี้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

 

“คาดว่าการออกมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้โรงไฟฟ้ามีการนำเข้าดีเซล (บี0) 200 ล้านลิตรต่อเดือน และนำเข้าน้ำมันเตา 35 ล้านลิตรต่อเดือน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนก๊าชธรรมชาติ โดยส่วนนี้จะส่งผลให้สูญรายได้ภาษีสรรพสามิต 7,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีผลกับการจัดเก็บรายได้โดยตรง เนื่องจากในช่วงสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำเข้าน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การลดภาษีครั้งนี้จะเป็นการตรึงราคาค่าไฟ เพื่อช่วยเหลือประชาชน”

ทั้งนี้ มาตราการลดภาษีทั้ง 2 เชื้อเพลิงนี้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 1 – 1.50 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ส่งผลดีต่อค่า FT ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นสูง ส่วนการพิจารณาค่าFT ว่าจะมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับธุรกิจพลังงาน เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

โดยส่วนที่มีการคาดการณ์ก็อาจจะส่งผลให้ค่าไฟปรับเพิ่มไม่ถึงจุดนั้น ส่วนจะมีการปรับค่าไฟเพิ่มขึ้นเพียงใดนั้น คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้นค่าไฟน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ หรืออาจจะไม่ได้ปรับขึ้นเลย ก็ต้องรอติตตามอีกครั้ง

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) คิดอัตราภาษีอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 0.64 บาทต่อลิตร ด้วยเหตุนี้กระทรวงการคลัง

โดยกรมสรรพสามิต เห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด โดยเสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

“มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคา ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง

และจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไม่กระทบการจัดเก็บรายได้สรรพสามิต เพราะสถานการณ์ปกติไม่มีการนำเข้าน้ำมันส่วนนี้อยู่แล้ว”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance