ดอลลาร์แข็งค่า หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% มีนาคมนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (7/2) ที่ระดับ 32.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 32.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุน โดยในวันจันทร์ถึงวันพุธมียอดซื้อสุทธิของชาวต่างชาติในตลาดพันธบัตรกว่า 3 หมื่นล้านบาท และตลาดหุ้นอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท หลังจากรัฐบาลมีท่าทีดำเนินนโยบายปิดประเทศและยุติการล็อกดาวน์

นอกจากนี้ในวันพุธ (9/2) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด แม้จะยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

ทั้งนี้คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของศรษฐกิจ ควบคู่กับมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ตลาดแรงาน รวมถึงรายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เร็วกว่าคาด

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด คณะกรรมการเห็นว่ายังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในภาวะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมถึงราคาพลังงานโลกและสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง

สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคในคืนวันพฤหัสบดี (10/2) พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปี 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือน ธ.ค. ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงปลายสัปดาห

โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% ในเดือน มี.ค. 65 และยังมีเจ้าหน้าที่เฟดบางคนออกมาระบุว่าอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1% ในเดือน ก.ค. 65 นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) อายุ 10 ปี ที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2.0% ได้เป็นครั้งแรก

ในส่วนของตลาดแรงงานนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 230,000 ราย ทั้งนี้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 1.62 ล้านราย ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.60-33.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 32.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (7/2) ที่ระดับ 1.1453/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 1.1462/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย แต่ยังมีแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากสมาชิกคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 4% ในปีนี้ ส่งผลให้ทาง ECB จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.25% ซึ่งสอดคล้องกับที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการแถลงข่าวหลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของ ECB เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าเช่นกัน โดยนางลาการ์ดกล่าวยอมรับว่า เงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ และความเสี่ยงของแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น

ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.1% ในเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ (8/2) ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ได้ออกมาแสดงความเห็นที่ตรงกันข้ามกับจุดยืนที่เคยกล่าวไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงในระยะกลาง จึงยังไม่มีความจำเป็นในการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ส่งผลให้ค่าเงินยูโรทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1376-1.1493 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และเปิดตลาดในวันศุกร์ (11/1) ที่ระดับ 1.1391/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวัน (7/2) ที่ระดับ 115.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 114.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากปรากฏการณ์ความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Divergence) ระหว่าง FED กับ BOI ซึ่งนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาระบุว่า BOJ ยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจภาคบริการของญี่ปุ่นลดลงในเดือน ม.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดเพื่อสกัดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีมติให้ขยายการประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีก 12 จังหวัดต่อไปอีกจนถึงวันที่ 6 มี.ค.เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.00-116.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 116.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/